วันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ปราสาทเมืองต่ำ อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์










ปราสาทเมืองต่ำ อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ (Unseen Thailand)

ณ ที่ราบอีกฟากเชิงเขาพนมรุ้ง แดดอุ่นนวลทาบไล้ลวดลายจำหลักบนหินทรายอันวิจิตรตระการตาของปราสาทเมืองต่ำ ยิ่งสร้างเสน่ห์และทำให้ปราสาทหลังนี้มากไปด้วยเรื่องราว ความงดงามของลวดลายสลักเสลาที่คงเหลืออยู่อย่างสมบูรณ์ที่สุด ทำให้ทุกสัดส่วนของปราสาทเมืองต่ำเป็นเสมือนบทบันทึกความรู้ของศิลปะขอมอันน่าศึกษาและใส่ใจ

ที่ราบอีกฟากเชิงเขาพนมรุ้ง ตั้งอยู่ในบริเวณบ้านโคกเมือง ตำบลจรเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปทาง ทิศใต้เป็นระยะทางประมาณ 64 กิโลเมตร กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา พ.ศ. 2478 และได้เข้ามาทำการบูรณะเมื่อ พ.ศ. 2531 แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2539 ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จ

เป็นองค์ประธาน และปัจจุบันอยู่ในความดูแลของสำนักอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
ปราสาทหินเมืองต่ำเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ศิลปะขอมโบราณ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 16-17 มีลักษณะเป็นกลุ่มปราสาทอิฐ 5 องค์ ตั้งอยู่บนศิลาแลงอันเดียวกัน เรียงเป็น 2 แถวตามแนวทิศเหนือใต้ แถวหน้า 3 องค์ องค์กลางมีขนาดใหญ่กว่าปรางค์อื่น ส่วนแถวหลังมีปรางค์อิฐจำนวน 2 องค์ วางตำแหน่งให้อยู่ระหว่างช่อง ของปรางค์ 3 องค์ ในแถวแรก ทำให้สามารถมองเห็นปรางค์ทั้ง 5 องค์ พร้อมกันโดยไม่มีองค์หนึ่งมาบดบัง ซึ่งเป็นรูปแบบที่แตกต่างจากปราสาทแห่งอื่นๆ ที่จะมีปรางค์องค์ใหญ่ตรงกลางและล้อมรอบด้วยปรางค์ขนาดเล็กกว่าทั้ง 4 มุม ปรางค์ประธาน ปัจจุบันมีสภาพให้เห็นเฉพาะฐานเท่านั้น โดยมีผนังเเป็นรูป สี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมขนาด 7 x 7 เมตร โครงสร้าง โดยรวมนั้นมีลักษณะเหมือนกับปรางค์บริวารทั้ง 4 องค์ จะต่างกันก็เพียงแต่ปรางค์ประธานมีมุขหน้า ส่วนปรางค์บริวารไม่มี ปรางค์ประธานจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก และเป็นด้านที่มีประตูเข้าสู่ภายในองค์ปรางค์เพียงด้านเดียว ส่วนที่เหลืออีก 3 ด้าน คือ ทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตกนั้น ทำเป็นรูปประตูหลอก

จากการขุดค้นเพื่อทำการ บูรณะปราสาทเมืองต่ำของกรมศิลปากร ได้ขุดพบหน้าบันและทับหลังของมุขปราสาทปรางค์ประธานทำจากหินทราย หน้าบันจำหลักเป็นรูปพระอินทร์ประทับนั่งในท่ามหาราชลีลาสนะ คือ นั่งชันเข่าขวาขึ้น ขาซ้ายพับ เหนือช้างเอราวัณสามเศียรในซุ้มเรือนแก้วอยู่บน หน้ากาล ลักษณะของซุ้มหน้าบันนี้ เป็นศิลปะเขมรแบบบาปวน มีอายุราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 16 ปราสาททั้ง 5 จะล้อมรอบด้วยระเบียงคดซึ่งมีทับหลังและซุ้มประตูแกะสลักด้วยหินทรายอย่าง งดงาม มีสระน้ำ หรือบาราย กรุด้วยศิลาแลง ทั้ง 4 ทิศ มุมสระมีพญานาคหินทราย 5 เศียร ทอดตัวยาวรอบขอบสระน้ำ ชั้นนอกปราสาทมีกำแพงศิลาแลงอีกชั้น
















































ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

free counters